เมนูลดความอ้วนแบบไม่ทรมาน ปรับค่า BMI ที่เกินมาตรฐานให้กลับมาสมส่วนอีกครั้ง

ค่า BMI หรือค่าดัชนีมวลกาย เป็นตัวเลขที่เอาไว้ใช้วัดว่าเรามีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูงหรือไม่ ถ้าค่า BMI สูงกว่าค่ามาตรฐาน คือสัญญาณให้เราเริ่มหันกลับมาดูแลตัวเอง บทความนี้จะทำให้คุณรู้วิธีในการควบคุม BMI ทั้งวิธีการปรับไลฟ์สไตล์ พร้อมเมนูลดน้ำหนักแบบไม่ต้องทรมานใจมาแนะนำอีกด้วย

BMI สูงส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย?

BMI หรือค่าดัชนีมวลกาย เป็นตัวเลขที่เอาไว้ใช้วัดว่าเรามีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมกับส่วนสูงหรือเปล่า วิธีคำนวณก็ง่ายมาก เอาน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรแล้วยกกำลังสอง เช่น น้ำหนัก 70 กิโล สูง 1.65 เมตร ก็จะได้ 70 ÷ (1.65 x 1.65) = 25.7 ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ "น้ำหนักเกิน"

ถ้า BMI เริ่มเกิน 23 เราจะเริ่มเข้าเขตน้ำหนักเกิน และถ้าไปถึง 25 ก็เริ่มเข้าเขต "อ้วน" แล้ว ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าแค่ตัวเลขเปลี่ยนนิดเดียว แต่ผลกระทบกับร่างกายนั้นเยอะมาก

คนที่ BMI สูง มีโอกาสเป็นโรคเรื้อรังหลายอย่างแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะ 3 กลุ่มโรคหลักที่แอบซ่อนอยู่ในร่างกายคือ

  • โรคเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งมักเกิดจากการที่ร่างกายต้านอินซูลิน อันมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากน้ำหนักเกิน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด น้ำหนักตัวมากทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเกิดภาวะหลอดเลือดตีบตัน
  • โรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นพบว่าไขมันส่วนเกินในร่างกายมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง

นอกจากโรคแล้ว ร่างกายยังส่งสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น เหนื่อยง่าย ปวดข้อ ขี้ร้อน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ หรือมีอาการง่วงช่วงกลางวัน ซึ่งหลายคนมักมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่จริงมันคือเสียงกระซิบบอกเราว่า “ร่างกายเริ่มรับไม่ไหวแล้วนะ”

ปรับไลฟ์สไตล์ยังไงให้ BMI ลดลง

การปรับวิธีใช้ชีวิตประจำวันที่ช่วยลดค่า BMI เริ่มจากเรื่องอาหาร หลายคนคิดว่าการลดน้ำหนักคือการ "ไม่กิน" แต่จริงๆ แล้ว การ "กินให้เป็น" ที่ช่วยได้มากกว่า เช่น

  • กาเลือกกินอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ไข่ต้ม อกไก่ เต้าหู้ ถั่วต่างๆ ช่วยให้อิ่มนาน ไม่อยากกินจุบจิบระหว่างวัน แถมยังช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อด้วย
  • กินผักผลไม้เยอะๆ โดยเฉพาะผักใบเขียวที่มีไฟเบอร์สูง จะช่วยให้ขับถ่ายดี และลดการดูดซึมไขมันบางส่วน

ส่วนเรื่องออกกำลังกาย อาจเริ่มจากการเดินเร็ว วันละ 30 นาที หรือว่ายน้ำ โยคะเบาๆ หรือแอโรบิกในน้ำก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า

อีกเรื่องที่มักถูกมองข้ามคือ "การนอนหลับ" การนอนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อคืน ช่วยให้ฮอร์โมนควบคุมความหิวทำงานดีขึ้น ร่างกายเผาผลาญได้ดีขึ้น ถ้านอนน้อย ฮอร์โมนหิว (Ghrelin) จะพุ่ง ฮอร์โมนอิ่ม (Leptin) จะลด ทำให้เรากินเยอะขึ้นแบบไม่รู้ตัว

5 เมนูช่วยลด BMI แบบไม่ทรมาน

มาถึงเรื่องที่ทุกคนรอคอย คือจะกินยังไงให้ BMI ลดลงแบบไม่ต้องทรมาน ไม่ต้องรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล อาหารที่เราจะแนะนำต่อไปนี้ทั้งอร่อย ทำง่าย และช่วยให้อิ่มนาน

1. ข้าวกล้อง+ไข่ต้ม+ผักลวก

เมนูง่ายที่สุดในโลก แต่มหัศจรรย์สุด ๆ ข้าวกล้องให้พลังงานช้า อิ่มนาน ไข่ต้มให้โปรตีนดี ๆ ส่วนผักลวกจะช่วยเรื่องไฟเบอร์ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

2. เมนู 2 แกงจืดเต้าหู้ไข่ใส่ผักเยอะ ๆ

น้ำซุปอุ่น ๆ ไม่มีน้ำมัน เต้าหู้ไข่มีโปรตีนย่อยง่าย ผักในน้ำแกงช่วยเพิ่มไฟเบอร์ ทำให้รู้สึกอิ่มโดยไม่ต้องกินแป้งเยอะ

3. ยำวุ้นเส้นไม่ใส่น้ำตาล+อกไก่ฉีก

รสชาติจัดจ้านถูกปากคนไทย วุ้นเส้นให้พลังงานน้อยกว่าข้าว ส่วนอกไก่ฉีกเพิ่มโปรตีน อิ่มได้นาน กินแล้วไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังลดน้ำหนัก

4. ข้าวโพดต้ม+ไข่ต้ม+ถั่วต้ม

เป็นชุดของว่างที่ไม่ว่างเปล่า มีทั้งคาร์บเชิงซ้อน โปรตีน และไขมันดี แถมพกพาง่าย กินได้ทุกที่

5. สมูทตี้ผัก+ผลไม้+เมล็ดเจีย

ดื่มตอนเช้าหรือก่อนนอนก็ได้ ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็ว ไม่ต้องหาของกินเพิ่มทั้งวัน ลองใส่ผักโขม กล้วย แอปเปิ้ล โยเกิร์ตไขมันต่ำ และเมล็ดเจียผสมกันดู รสชาติดีกว่าที่คิดเยอะ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม และของหวานต่างๆ ไม่ใช่ห้ามกินเด็ดขาด แต่ควร "ลดความถี่" ลงให้เหลือแค่กินในโอกาสพิเศษพอ เพราะของพวกนี้ทั้งแคลอรี่สูง ไขมันเยอะ และทำให้ BMI พุ่งโดยไม่รู้ตัว

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการลด BMI

Q: ไม่ออกกำลังกายเลย จะลด BMI ได้ไหม?

A: ได้แน่นอน! เพราะการลด BMI หลัก ๆ มาจากอาหารถึง 70% อีก 30% คือการเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าคุณควบคุมการกินได้ดีพอ แม้จะไม่ได้ออกกำลังหนัก ๆ เลย ก็ยังสามารถลด BMI ได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานขึ้น ยังไงก็ตามการออกกำลังกายก็ยังสำคัญเสมอเพราะช่วยเพิ่มระบบการเผาผลาญร่างกาย

Q: ต้องกินอาหารเสริมไหม?

A: ไม่จำเป็นเลยถ้าคุณกินอาหารครบ 5 หมู่ และหลากหลายพอ อาหารเสริมควรเป็นตัวเลือกสุดท้ายในกรณีที่คุณขาดสารอาหารบางอย่าง หรือมีปัญหาสุขภาพที่แพทย์แนะนำให้ทานเป็นพิเศษ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาอาหารเสริมที่อ้างว่าจะช่วยลดน้ำหนักเร็ว เพราะบางตัวอาจเป็นอันตรายต่อตับ ไต และหัวใจโดยไม่รู้ตัว

อ้างอิง


Tags : 

บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน)

999/1 เดอะไนน์ทาวเวอร์ ถนนพระราม 9
แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

1519

 

www.thanachartinsurance.co.th