ธนชาตประกันภัยตระหนักดีว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงเป็นความรับผิดชอบระดับโลก แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของเรา การผสานการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ของเรา ช่วยให้เราจัดการความเสี่ยง ปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ ๆ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เรามุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอน เพิ่มความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกกระบวนการดำเนินงานของทั้งตัวเองและผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า
กิจกรรม | ตัวชี้วัดความสำเร็จ |
สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อความสำคัญ ความรุนแรงของปัญหาด้าน Climate Change ระบุแหล่งกำเนิด CARBON EMISSION ในขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ | ระยะสั้น 2565-2567 - มีการให้ความรู้กับพนักงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาด้าน Climate Change และ GHG - ได้รับใบ CERTIFICATE รับรองปริมาณ CARBON EMISSION(Scope I & II) ของบริษัทภายในปี 2567 จาก TGO - ได้รับใบ CERTIFICATE รับรองปริมาณ CARBON EMISSION(Scope I, II & III) ของบริษัทภายในปี 2568 จาก TGO ระยะยาว 2568-2570 - ตั้งเป้าลด CARBON EMISSION 10% |
ธนชาตประกันภัยตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนชาตประกันภัยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของเราให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
ธนชาตประกันภัยเริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับพนักงานทุกสายงานฯ ให้ผ่านการฝึกอบรมและการให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานทุกคนเข้าใจถึงผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานประจำวัน และสามารถมีส่วนร่วมในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ ธนชาตประกันภัยเชื่อมั่นว่าการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มต้นจากการให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่บุคลากร
นอกจากนี้ ธนชาตประกันภัยยังได้พัฒนาแนวทางในการคำนวณและติดตามการปล่อยคาร์บอนตลอดเส้นทางธุรกิจของเรา (scope I, II, III) ตั้งแต่การใช้พลังงานในสำนักงาน การเดินทางของพนักงาน การดำเนินการทางโลจิสติกส์ ไปจนถึงการบริหารจัดการของเสีย ระบบนี้ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและระบุจุดที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างตรงจุด ทั้งยังช่วยให้เราสามารถรายงานและแสดงผลการดำเนินการด้านความยั่งยืนได้อย่างโปร่งใสและน่าเชื่อถือ
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ธนชาตประกันภัยได้รับการรับรองปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองในการประเมินและรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในประเทศไทย การได้รับการรับรองนี้ไม่เพียงแสดงถึงความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจของเรา แต่ยังเป็นหลักฐานยืนยันถึงความทุ่มเทและความมุ่งมั่นของเราที่จะร่วมสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอีกด้วย
โครงการ “ธนชาตประกันภัย Green Garage มุ่งสู่วัฒนธรรมสีเขียว” จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นในการลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ โดยอู่ซ่อมรถยนต์ถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าที่สำคัญของธนชาตประกันภัย เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการในการซ่อมแซม ทั้งในด้านการทำสีและการซ่อมเครื่องยนต์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดทั้ง สารพิษ และ การปล่อยก๊าซคาร์บอน สู่สิ่งแวดล้อม
อู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไปมักใช้สารเคมีและวัสดุที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สารละลายในการทำสีรถ น้ำมันหล่อลื่น และสารเคลือบต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการที่ใช้พลังงานสูงในการซ่อมเครื่องยนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ ที่มุ่งหวังจะสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนแนวคิดของอู่ซ่อมรถยนต์ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
โครงการ “ธนชาตประกันภัย Green Garage มุ่งสู่วัฒนธรรมสีเขียว” จึงถูกออกแบบมาเพื่อให้ความรู้ผ่านการอบรมออนไลน์ ครอบคลุมอู่ซ่อมรถยนต์ในเครือทั่วประเทศ จำนวน 509 อู่ โดยเนื้อหาการอบรมเน้นให้เข้าใจถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการซ่อมรถ และวิธีการปฏิบัติที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดของเสีย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผู้เข้าอบรมจะได้รับ ใบรับรองหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับที่ 1 จาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการของอู่ซ่อมรถยนต์ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567
โครงการนี้ไม่เพียงแต่มุ่งให้ความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเชิญชวนให้อู่ซ่อมรถยนต์ในเครือธนชาตประกันภัย แสดงความตั้งใจที่จะร่วมกันดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปใช้ในกระบวนการซ่อมแซมและบริการต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสีเขียวให้เกิดขึ้นจริงในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ
โครงการ “EV for Surveyor” อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนยานพาหนะของเจ้าหน้าที่สำรวจภัยมาใช้ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของเจ้าหน้าที่ จัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำรวจภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ทดลองใช้งานระหว่างวันที่ 8 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
การคาดการณ์และประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนยานพาหนะของเจ้าหน้าที่สำรวจภัยจาก เชื้อเพลิงฟอสซิล มาเป็น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากยานพาหนะไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศโดยตรง ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) และเป้าหมาย Net Zero ที่หลายองค์กรทั่วโลกกำลังมุ่งเน้น
ในช่วงทดลองดังกล่าว เจ้าหน้าที่สำรวจภัยที่ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสามารถให้บริการครอบคลุมระยะทาง 3,841 กิโลเมตรส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปได้ถึง 222 กิโลกรัมคาร์บอน การเปลี่ยนมาใช้ EV จึงไม่เพียงแต่ช่วยลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังช่วยลดต้นทุนในการใช้งานในระยะยาว ทั้งด้านการบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงอีกด้วย
ข้อมูลและผลลัพธ์จากการทดลองใช้งานครั้งนี้ จะถูกนำเสนอในการประชุมผู้บริหาร เพื่อนำไปสู่การพิจารณาและวางแนวทางสำหรับการดำเนินโครงการในขั้นตอนถัดไป เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรของเราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง
อีกหนึ่งความตั้งใจของ ธนชาตประกันภัยในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า คือการช่วยป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือกับ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม พายุ อากาศร้อนจัด หรือแม้กระทั่งปัญหามลพิษทางอากาศอย่าง PM2.5 โดยเราได้ดำเนินการส่งการสื่อสารในรูปแบบของ "เตือนภัย" (Alert) ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์และให้คำแนะนำที่เหมาะสม เช่น เส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดภัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถวางแผนและป้องกันความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ธนชาตประกันภัย ยังดำเนินการ สื่อสารมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ให้กับลูกค้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่าง ทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ ภัยน้ำท่วม เราได้สื่อสารมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่ระยะที่น้ำยังไม่ท่วม โดยแนะนำบริการ จุดจอดรถหนีน้ำท่วม ให้กับลูกค้าประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง และในกรณีที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม บริษัทฯ มีบริการ รถยกฟรีสำหรับลูกค้าที่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท ช่วยให้ลูกค้าสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมั่นใจ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธนชาตประกันภัยมุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยลดความกังวลของลูกค้าในการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สู่สิ่งแวดล้อมได้โดยตรง
ผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทฯ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาหลักของผู้ใช้รถ EV โดยเฉพาะในเรื่อง แบตเตอรี่ ซึ่งมักเป็นความกังวลสำคัญของผู้บริโภค เราได้พัฒนาความคุ้มครองที่ครอบคลุมเรื่องแบตเตอรี่อย่างเต็มรูปแบบ (100%) พร้อมเสนอเบี้ยประกันภัยที่ไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์สันดาปมากนัก
การปรับตัวของผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น ลดความลังเลในการเปลี่ยนมาใช้ EV และมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในประเทศไทย ไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
อีกหนึ่งความตั้งใจของธนชาตประกันภัยในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือการขยายช่องทางการขายและให้บริการผ่าน ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Channel) หรือ ช่องทางที่ไม่ใช้กระดาษ (Non-Paper Channel) มากยิ่งขึ้น เพื่อลด การเบียดเบียนทรัพยากร โดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนไปใช้เอกสารและกระบวนการดิจิทัล ไม่เพียงช่วยลดการใช้กระดาษและการตัดไม้ทำลายป่า แต่ยังเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับลูกค้าในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ตั้งแต่การสมัครประกันภัย การชำระเงิน ไปจนถึงการรับกรมธรรม์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่งเอกสาร ช่วยให้ธุรกิจของเราดำเนินไปอย่างยั่งยืน และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
บริษัทฯ ไว้ทำการวิเคราะห์เพื่อระบุและประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มาใช้เป็นดัชนีในการกำกับดูแลด้านความเพียงพอของเงินกองทุน รวมถึงการจัดทำแผนงานเพื่อรองรับดานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อ้างอิงข้อมูลจากสถานการณ์ของ Nationally Determined Contribution(NDC) จำนวนภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มขึ้นมาใช้ในการจัดทำ Stress test โดยกำหนดสมมุติฐานว่าหาก อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 2.7 องศา ส่งผลทำให้มีความถี่จากภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้น 2.8 เท่า โดยทำการทดสอบภายใต้แผนธุรกิจพบว่าบริษัทฯ จะมีความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่า 937 ล้านบาท ส่งผลให้เงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านรับประกันภัยเพิ่มขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวอัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ระดับ 415% ปรับลดลงจาก Base ตามแผนธุรกิจ ที่ 468% ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับที่สำนักงาน คปภ.กำหนดอยู่ที่ระดับ 140%
อย่างไรก็ตาม การเกิดภัยพิบัติจากภัยน้ำท่วมอาจส่งผลต่อต้นทุนการรับประกันภัยที่สูงขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จึงมีการติดตามและประเมินความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องโดยมีการรายงานในคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) เป็นประจำในทุกไตรมาส และกำหนดให้มีแผนรับมือการเกิดภัยพิบัติ (CAT Protocol )เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุด